บางครั้งต้องช้า บางครั้งต้องเร็ว

จังหวะในบูจินกัน

จังหวะ (timing) เป็นหนึ่งในหัวใจที่สำคัญ ในการฝึกศิลปะต่อสู้ ผู้ฝึกมักได้ยินอาจารย์บอกในโรงฝึกเสมอว่าให้ฝึกให้ช้าลง แนวคิดของศิลปะต่อสู้ ไม่ใช่การต่อสู้กันที่ความเร็ว แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอด บางครั้งการเคลื่อนไหวที่เร็วกลับเป็นผลร้าย เพราะอาจเป็นการเคลื่อนไหวไปสู่อันตราย จังหวะที่ดีคือบางครั้งก็ต้องช้า บางครั้งก็ต้องเร็ว ภายใต้บริบทและวัตถุประสงค์ของจังหวะนั้นๆ 

เคลื่อนไหวให้พอเหมาะ

การเคลื่อนไหวที่เร็วเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกทั่วไปจะสามารถเข้าใจได้โดยง่าย ผู้ฝึกต้องเคลื่อนไหวให้เร็วกว่าการตอบสนองของคู่ต่อสู้ การออกหมัด ควรจะถึงเป้าก่อนที่เป้าหมายจะขยับหนีไป การทุ่มก็ควรทำก่อนหลังจากคู่ต่อสู้เสียสมดุลแต่ต้องเร็วก่อนที่คู่ต่อสู้จะกลับมามีสมดุลเหมือนเดิม แต่หลายครั้งการเคลื่อนไหวที่เร็วกลับขาดความสมบูรณ์ หลายครั้งจะกลายเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้ท่านั้นผิดไปเลยเพราะมีการข้ามขั้นตอนที่สำคัญไป เช่น ก่อนที่จะดึงคู่ต่อสู้ลง ต้องดันไปทางซ้าย เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียสมดุล หากข้ามขั้นตอนที่นี้ไป จะทำให้ดึงคู่ต่อสู้ลงได้ยาก และทำให้ต้องกลับไปใช้แรงเพื่อดึงคู่ต่อสู้ลง หากคู่ต่อสู้ตัวใหญ่กว่าก็จะไม่สามารถดึงคู่ต่อสู้ลงได้ ในการฝึกโดยทั่วไป “ช้าแต่ชัวร์” จะดีกว่า “เร็วแต่ผิด” 

นอกจากนี้ “ความช้า” ยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมคู่ต่อสู้ ผู้ฝึกสามารถเคลื่อนไหวให้ช้าลงเพื่อให้คู่ต่อสู้เห็นในสิ่งที่เราต้องการและขยับไปในจุดที่เราต้องการได้ เช่นการชี้ดาบไปยังคู่ต่อสู้ และดันดาบเข้าหาคู่ต่อสู้ช้าๆ เพื่อให้คู่ต่อสู้เห็นดาบและต้องถอยหลังไป จำทำให้คู่ต่อสู้จะเสียสมดุลไป และทำให้ผู้ฝึกสามารถทำขั้นตอนถัดไปได้ง่าย การชี้ดาบไปและดันดาบออกเร็วเกินไป อาจทำให้คู่ต่อสู้ไม่ทันได้เห็นดาบจึงไม่ขยับตัว ไม่เสียสมดุล และจะทำให้ขั้นต่อไปทำได้ยากขึ้น “ความช้า” จึงเป็นสิ่งสำคัญอีกข้อในการฝึกศิลปะต่อสู้ 

จะช้าจะเร็วขึ้นอยู่กับสถานการณ์

หลักการที่ว่า “บางครั้งก็ต้องช้า บางครั้งก็ต้องเร็ว” ยังเป็นหลักการที่ใช้ได้ในการทำงานได้ดี การขายของอาจต้องใจเย็นๆ เพื่อให้ลูกค้าค่อยๆ เดินดูของภายในร้าน ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าเลือกชมจนลูกค้าไม่สบายใจและเดินออกจากร้านไป แต่เมื่อลูกค้าเริ่มมีคำถามหรือต้องการจ่ายเงิน ต้องเข้าหาลูกค้าเพื่อให้ความช่วยเหลือ การปิดการขายก็อาจต้องทำโดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใจ การขอขึ้นเงินเดือนกับหัวหน้าก็ต้องดูจังหวะ การเดินเข้าหาหัวหน้าและขอขึ้นเงินเดือนทันทีอาจไม่เหมาะสม คุณอาจจะต้องสร้างผลงานและรอดูผลการประเมินผลการทำงานจากหัวหน้าก่อน แต่ไม่ควรจะช้าจนกระทั่งผลการเงินเดือนออก หรือรอจนกระทั่งเพื่อนร่วมงานคนอื่นไปขอขึ้นเงินเดือนไปหมดแล้ว จังหวะ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญทั้งในศิลปะต่อสู้ และการใช้ชีวิตทั่วไป 

คำถามที่อาจเกิดขึ้นมาคือ แล้วเมื่อไรต้องช้า เมื่อไรต้องเร็ว คำตอบคือ “ขึ้นอยู่กับสถานการณ์” คำตอบนี้ไม่ใช่สิ่งตายตัว เป็นเรื่องของศิลปะและประสบการณ์ จังหวะที่จะเข้าหาลูกค้าหลังจากลูกค้าดูจนพอใจแล้วจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จังหวะที่จะเข้าพบหัวหน้าเพื่อขอขึ้นเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ จังหวะที่จะเข้าควบคุมคู่ต่อสู้ด้วยหมัดหรืออาวุธ เพื่อที่จะจับคู่ต่อสู้ทุ่มหลังจากการเสียสมดุลก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ คำตอบไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยประสบการณ์ และการฝึกที่สม่ำเสมอ ทุกครั้งที่เข้าฝึกให้สังเกตอาจารย์ให้ดี อย่าเร่งรัดเกินไป อย่าข้ามขั้นตอน เพราะทุกขั้นตอนมีวัตถุประสงค์ และแต่ละขั้นตอนมีความเกี่ยวเนื่องกัน หากฝึกแล้วติด รู้สึกว่าทำไม่ถูก คุณอาจจะต้องกลับไปดูขั้นตอนก่อนหน้านี้ด้วยว่าทำมาด้วยจังหวะที่ถูกหรือเปล่า เพราะ บางขั้นตอนก็ต้องช้า บางขั้นตอนก็ต้องเร็ว

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล

สายดำระดับแปด

บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ