ลูกศิษย์ (Deshi;弟子) กับนักเรียน (Gakusei; 学生)
Deshi (弟子) เป็นคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า ลูกศิษย์ หรือ disciple ซึ่งแตกต่างจากคำว่า นักเรียน หรือ student จะตรงกับคำว่า Gakusei (学生) ในภาษาญี่ปุ่น ถ้าดูกันตามรากศัพท์แล้ว คำว่า Deshi ประกอบด้วยอักษรคันจิ 2 ตัว คือ 弟 ซึ่งแปลว่า น้องชาย และ 子 ซึ่งแปลว่า “เด็ก” ดังนั้น Deshi จึงมีความหมายว่า เด็กหรือผู้เร่ิมต้นในวิชานั้นๆ ต้องคอยติดตามผู้รู้หรืออาจารย์เพื่อเรียนรู้ต่อไป ในทางกลับกันคำว่า Kakusei ประกอบด้วยอักษร 学 ซึ่งแปลว่าการเรียนรู้หรือความรู้ และ 生 ซึ่งแปลว่าการกำเนิด ดังนั้นนักเรียนเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องหนึ่งๆ เพื่อให้เกิดความรู้ขึ้นมา หน้าที่ของนักเรียนคือเข้ามาในห้องเรียนเพื่อรับความรู้ออกไป ในขณะที่ลูกศิษย์จะหมายถึง ผู้ซึ่งคอยติดตาม และอุทิศตนให้กับวิชา และอาจารย์ ลูกศิษย์จะคอยทำตาม และเดินตามอาจารย์ เพื่อที่เรียนรู้วิชาและแนวทางที่อาจารย์สอน ในทางกลับกันอาจารย์ก็จะคอยดูว่าลูกศิษย์มีความพร้อมแค่ไหน ควรจะสอนอะไรในขณะนั้นๆ อาจารย์ก็จะคอยปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างเพื่อให้ลูกศิษย์ได้เดินตามในแนวทางที่เหมาะที่ควร ความสัมพันธ์ของศิษย์ อาจารย์ จึงจะลึกซึ้งกว่าความสัมพันธ์ของนักเรียนที่เข้าไปเรียนตามโรงเรียนกวดวิชาที่เมื่อไม่ถูกใจก็ย้ายที่เรียน ได้ ง่ายๆ นักเรียนกับลูกศิษย์ แม้จะมีความหมายคล้ายกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
Deshi (弟子) ในสังคมไทย
เราจะเห็นความสัมพันธ์ของศิษย์-อาจารย์ได้ชัดในศาสนาพุทธ เมื่อเรานับถือพระเถระรูปใดเราจะเรียกท่านว่าเป็นพระอาจารย์ และเรียกตัวเองว่าเป็นลูกศิษย์ของท่าน เราจะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเรียนของท่าน เพราะจุดประสงค์หลักของเราไม่ใช่เพื่อเรียนหนังสือกับท่าน เราไม่ได้ไปทำบุญกับท่านเพราะหวังจะให้ท่านสอนอะไรเรา หากเราหวังเช่นนั้น วันไหนท่านไม่ได้สอนอะไรเรา เราอาจจะไม่พอใจ แต่การที่เราเข้าไปหาพระอาจารย์ เข้าไปทำบุญโดยไม่ได้หวังผลอะไร ก็เพราะเรานับถือท่าน เรารู้สึกว่าท่านปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เรารู้สึกถูกจริตกับปฏิปทาของท่าน รู้สึกศรัทธาและต้องการติดตามและเดินตามท่าน วันไหนที่ท่านสอน เราก็จะคิดว่านับเป็นบุญของเรา วันไหนที่ท่านไม่สอนเราก็ยังคงรู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่าน
Deshi (弟子) ในบูจินกัน
ในบูจินกัน เราจะเรียกผู้เข้าฝึกว่า Deshi (弟子) หรือลูกศิษย์ Deshi จะอุทิศตนให้กับวิชาและอาจารย์ และจะหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ โดยยึดอาจารย์เป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ทักษะการต่อสู้ แนวคิดและพฤติกรรมต่างๆ เช่น ความอดทน การควบคุมอารมณ์ กลยุทธ์ การหลอกล่อ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกในโรงฝึกหรือการใช้ชีวิตนอก ในโรงฝึก Deshi จะพยายามทำตามสิ่งที่อาจารย์สอน ขณะที่อาจารย์สอนท่าหนึ่ง เขาก็จะฝึกอยู่แต่ท่านั้น ไม่พยายามไปฝึกท่าอื่น เมื่ออยู่นอกโรงฝึก เขาก็จะคอยสังเกตและนำเอาแนวทางการดำเนินชีวิตของอาจารย์มาใช้ในชีวิตประจำวัน
หน้าที่สำคัญอีกอย่างของ Deshi คือการรักษาเกียรติของโรงฝึกและวิชาบูจินกันไว้ แต่นี่ไม่ได้หมายถึงการแสดงความเก่งให้ทุกคนได้รู้ สิ่งที่ Deshi ควรทำคือเป็นเพียงสิ่งง่ายๆ ที่จะต้องระมัดระวังไม่ทำอะไรให้โรงฝึกเสื่อมเสีย ไม่ว่าจะเป็นการใช้วิชาในทางที่ผิด หรือการโพสข้อความตอบโต้ในโลกสังคมออนไลน์ด้วยโทสะ การกระทำบางอย่างอาจทำให้เรารู้สึกพอใจในระยะสั้นๆ แต่มันอาจทำให้เราต้องเสียใจในภายหลัง และอาจทำให้เสื่อมเสียถึงโรงฝึกด้วย
เป็น Deshi (弟子) กันดีกว่า
หากคุณกำลังเรียน หรือคิดที่จะเข้ามาเรียนวิชาบูจินกัน ลองถามตัวเองสักนิด ว่าคุณอยากได้อะไร อยากจะเข้ามาจ่ายเงินเพื่อคาดสายและได้ชื่อว่าเป็นนักเรียน อยากเป็นนักเรียนที่มุ่งเรียนเฉพาะทักษะการต่อสู้ หรืออยากเป็นลูกศิษย์ที่จะเรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นนักศิลปะต่อสู้เพื่อสืบทอดวิชาของบูจินกันต่อไป นักเรียนหรือลูกศิษย์ จะเป็นแบบไหน คุณเลือกได้
ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับ 5
ชิโดชิ บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ
Recent Comments