เรื่องของ Ukemi ใน บูจินกัน (อีกครั้ง)

ในการเข้าฝึกสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่อง Ukemi ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่เคยได้พูดถึงไปแล้วใน [post] ก่อนหน้านี้ แต่จะขอนำมาพูดซ้ำอีกครั้งในมุมมองที่ต่างไป

ในภาษาทั่วไป Ukemi หมายถึงรูปของคำกริยาถูกกระทำ หรือ passive voice ในภาษาอังกฤษ เช่น ถูกจับ ถูกต่อย ถูกทุ่ม เป็นต้น ในศิลปะต่อสู้ Ukemi หมายถึงศาสตร์แห่งการเอาตัวรอดเมื่อถูกจู่โจม ส่วนคำว่า Uke จะหมายถึงฝ่ายที่เป็นผู้รับการจู่โจม ในขณะที่คำว่า Tori หมายถึงผู้ที่จู่โจม 

Ukemi ใน บูจินกัน สำหรับ Uke และ Tori

ในบูจินกันเราจะมีการฝึก Ukemi พื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการม้วนหน้า ม้วนหลัง การตบเบาะ การหลบหมัด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม Ukemi จะเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกตลอดเวลาที่เราเข้าคู่ เพราะไม่ว่าเราจะถูกทุ่มหรือล๊อค Ukemi จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราไม่เจ็บหนัก ในทางกลับกัน ในขณะที่เราเป็น Tori เราก็จำเป็นต้องใช้ Ukemi ในกรณีต่างๆเช่น การหลบหมัด การป้องกันตัวจากการโดนทุ่ม เป็นต้น Ukemi จึงเป็นสิ่งที่ผู้ฝึกจะต้องฝึกตลอดเวลาทั้งในขณะที่เป็น Uke และขณะที่เป็น Tori 

การฝึกและสถานการณ์จริง

การฝึกไม่ใช่สถานการณ์จริง คู่ฝึกไม่ใช่คนร้าย ในการฝึกเราจึงไม่จำเป็นต้องชก หรือออกแรงให้เหมือนสถานการณ์จริง หน้าที่ของ Uke ไม่ใช่การฝืนให้อีกฝ่ายใช้เทคนิคไม่ได้ แต่หน้าที่ของ Uke คือ “ช่วย” ให้ Tori ได้ทดสอบเทคนิคที่ตนเข้าใจว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ (อย่างที่เราได้กล่าวว่า “ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย” หรือ Onegai Shimas ก่อนที่จะเริ่มฝึก) หาก Tori ทำถูก Uke ก็ไม่ควรแข็งเกร็งจนเกินไป แต่หาก Tori ทำผิดก็ไม่ควรจะล้มให้ นอกจากนี้ Uke ก็ไม่ควรอ่อนปวกเปียกจนเกินไป ไม่ควรกระโดดหรือขยับหนีเพียงเพราะ Tori แตะเพียงเบาๆ เท่านั้น

Uke ของอาจารย์

การได้รับเลือกให้เป็น Uke ของอาจารย์ระหว่างการฝึกสอนนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ฝึกควรจะรู้สึกภูมิใจ เนื่องจากผู้ที่เป็น Uke ของอาจารย์นั้นจะต้องมีทักษะ Ukemi ที่ดีระดับหนึ่ง อาจารย์จึงจะวางใจเลือกผู้นั้นมาเป็น Uke อย่างน้อยอาจารย์จะมั่นใจว่า Uke ผู้นั้นจะไม่บาดเจ็บหนักจากการฝึกคู่กับอาจารย์ 

Uke ของอาจารย์ ไม่ได้มีหน้าที่เป็น “คู่ต่อสู้” ของอาจารย์ แต่เป็นผู้ที่มีหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ให้อาจารย์สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อาจารย์ต้องการจะสอนให้ลูกศิษย์คนอื่นๆ ที่ดูอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ Uke ของอาจารย์จึงควรจะเคลื่อนไหวอย่างพอเหมาะพอดี ไม่ชกเร็วไป ไม่แข็งเกร็งไป ไม่อ่อนปวกเปียกไป มิฉะนั้น อาจทำให้อาจารย์ต้องเปลี่ยนไปใช้เทคนิคอื่น และไม่สามารถถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการได้ และอาจทำให้ลูกศิษย์คนอื่นไม่สามารถมองสิ่งที่อาจารย์แสดงได้ทัน ดังนั้น Uke ของอาจารย์จึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการฝึกแต่ละครั้ง

ความสำคัญของ Ukemi ต่อผู้ฝึกบูจินกัน

Ukemi เป็นสิ่งที่ผู้ฝึกจะต้องใช้ตลอดการฝึก ไม่ว่าจะขณะที่เป็น Tori หรือ ขณะที่เป็น Uke แต่ Ukemi ก็เป็นสิ่งที่หลายคนละเลย หรือลืมที่ให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการฝึก Ukemi ไม่ได้ทำให้ผู้ฝึกรู้สึกว่าเก่งขึ้นอย่างทันทีทันใด แตกต่างจากการฝึกเทคนิคที่อาจทำให้ผู้ฝึกรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ อย่างไรก็ตาม Ukemi เป็นสิ่งที่ทำให้ฝึมือของผู้ฝึกพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ และอย่างมั่นคง Ukemi จะช่วยให้ผู้ฝึกหลบหลีกจากสถานการณ์อันตรายได้ ช่วยให้ผู้ฝึกเรียนรู้ที่จะเลือกยืนอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย และช่วยให้ผู้ฝึกเข้าใจทั้งร่างกายของตนและคู่ฝึก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดตั้งต้นของการเริ่มใช้เทคนิคต่างๆ หากจุดตั้งต้นไม่ถูกต้อง เทคนิคต่างๆที่นำมาใช้ก็จะไม่ส่งผลอย่างที่ควรจะเป็น

ในการฝึกระดับสูง การที่ได้เป็น Uke ของอาจารย์ นั้นนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับการถ่ายทอดวิชาโดยตรง สิ่งที่ Uke ควรทำคือรับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเองขณะนั้น เพื่อที่จะนำไปสังเกตว่าคู่ฝึกรู้สึกเหมือนกันหรือไม่ การรับความรู้สึกนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Ukemi ผู้ฝึกจะไม่สามารถการรับความรู้สึกจากอาจารย์ได้เลย หากผู้ฝึกไม่มีพื้นฐาน Ukemi ที่ดี 

ในการฝึกครั้งถัดๆไป ผู้ฝึกอาจลองให้ความสำคัญต่อการฝึก Ukemi มากขึ้น ทั้งในช่วงฝึกพื้นฐาน ช่วงที่ตนเป็น Uke และ ช่วงที่ตนเป็น Tori และควรจะให้ความสำคัญต่อ Ukemi อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ตนปลอดภัยจากสถานการณ์อันตราย และจะช่วยให้ฝีมือพัฒนาไปข้างหน้าอย่างมั่นคงด้วย