Shodan: สายดำระดับหนึ่งของบูจินกัน

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 15-20 ปีที่แล้ว ก่อนที่ผมจะเร่ิมฝึกศิลปะต่อสู้  ในตอนนั้นประสบการณ์ของผมเป็นเพียงแค่การได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เกี่ยวกับศิลปะต่อสู้ จากคนรู้จัก หรือจากในภาพยนตร์เท่านั้น ผมมีความรู้สึกว่า นักศิลปะต่อสู้สายดำนั้น เป็นยอดฝีมือที่ยากต่อการไปถึง

ก่อนสายดำในบูจินกัน คือ สายขาว และสายเขียว

ผู้ฝึกบูจินกันใหม่จะเริ่มจากการคาดสายขาว ผู้ฝึกเหล่านี้เป็นผู้ที่ยังไม่รู้จักวิชา เข้ามาทดลองฝึกดูว่าถูกกับจริตของตนเองหรือไม่ เราจะเรียกผู้ฝึกในระดับนี้ว่าอยู่ในระดับ Mukyu (無級) ซึ่งมีความหมายว่า “ยังไม่มีระดับ” ช่วงนี้ผู้ฝึกจะต้องปรับตัวให้เข้ากับการฝึกพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกอุเคะมิ (เช่น ม้วนหน้า ม้วนหลัง) ในช่วงนี้วิชาจะคัดเอาเฉพาะคนที่มีความอดทน และมุ่งมั่นเพียงพอ ให้สามารถฝึกต่อไปได้

เมื่อผ่านช่วงสายขาว หรือ Mukyu ไปได้ และครูฝึกเห็นว่าผู้ฝึกพร้อมที่จะฝึกต่อไปทั้งร่างกายและจิตใจ ก็จะเลื่อนระดับของผู้ฝึกสู่ระดับ กิ้ว (Kyu: 級) โดยเริ่มจากระดับ 9 กิ้ว และเมื่อฝีมือดีขึ้น ระดับจะลดลงเรื่อยๆ จาก  9 กิ้ว เป็น 8 กิ้ว 7 กิ้ว ลงมาเรื่อยๆ จนถึง 1 กิ้ว ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ฝึกจะเตรียมตัวก้าวเข้าสู่ระดับสายดำ หรือ ดั้ง (Dan: 段)

ในการฝึกของระดับกิ้ว จะเน้นปูพื้นฐาน มีการฝึก อุเคะมิ ให้ดีขึ้น ฝึกกระบวนท่า (Kata) ฝึกท่ายืน (Kamae) และการเคลื่อนไหวให้ดีขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการก้าวไปสู่ระดับดั้ง หรือระดับสายดำ

บูจินกันไม่ได้ถ่ายทอดเพียงทักษะการต่อสู้ แต่จะมีการถ่ายทอดแนวคิด ธรรมเนียมปฏิบัติ และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในบูจินกันจะไม่มีการสอบเลื่อนระดับ แต่ครูฝึกจะดูความเหมาะสมในทุกๆด้าน ในเลื่อนชึ้นสู่สายดำผู้ฝึกจะต้องมีทั้ง ฝีมือ แนวคิดและทัศนคติ ที่เหมาะสม

Shodan (初段) หรือระดับเริ่มต้น

บูจินกันจะเรียก สายดำระดับหนึ่ง ว่า Shodan (初段) ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ระดับเริ่มต้น” สายดำระดับหนึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเนื่องจากเป็นจุดที่ผู้ฝึกได้รับการยอมรับเข้าสู่ “สำนัก” เป็นครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่น ผู้ฝึกถือว่ามีความพร้อมที่จะรับการถ่ายทอดในระดับสูงต่อไป

อย่างไรก็ตาม การได้รับสายดำในวันนี้ หมายความว่า ผู้ฝึกยังคาดสายเขียวอยู่เมื่อวาน ผู้ฝึกไม่ได้มีมีฝีมือที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เมื่อเลื่อนระดับขึ้นมาสู่หนึ่งตั้ง ผู้ฝึกมักจะมีฝีมือที่ไม่ต่างจากผู้ฝึกระดับสายเขียวนัก การได้สายดำระดับหนึ่งจึงไม่ไช่การสำเร็จการศึกษาหรือสำเร็จวิชา อย่างที่หลายคนอาจเข้าใจว่าผู้ฝึกในระดับสายดำจะต้องเป็นยอดฝีมือ ในทางกลับกันสายดำระดับหนึ่งเป็นจุดที่สำคัญเนื่องจากจุดเริ่มต้นของการฝึกวิชาอย่างจริงจัง  ผู้ฝึกในระดับหนึ่งดั้ง จึงยังคงต้องฝึกพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อขัดเกลาฝึมือตนเองให้ก้าวไปยังระดับที่สูงขึ้นต่อไป

Shodan (初段) คือ พร้อมที่จะฝึก

ความพร้อมของสายดำระดับหนึ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ฝึกสามารถก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับระดับกิ้ว ด้านฝีมือผู้ฝึกจะมีพื้นฐาน (หรือในบางกรณีก็ถูกคาดหวังให้มีพื้นฐาน) ที่ดี และสามารถเคลื่อนไหวได้ดีระดับหนึ่ง ด้านทัศนคติ ผู้ฝึกจะเข้าใจว่าจะต้องเปิดใจรับสิ่งที่อาจารย์จะสอน และเชื่อว่าตนจะสามารถพัฒนาต่อเนื่องขึ้นไปได้อีก ความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เมื่อประกอบกับแรงกดดันที่จะต้องมีฝีมือที่คู่ควรกับสาย จะเป็นแรงผลักดันให้สายดำระดับหนึ่งก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง

หลายครั้งที่การฝึกจะเป็นการฝึกท่าซ้ำๆ แต่ผู้ฝึกในระดับที่ต่างกันจะมองเห็นต่างกัน และทำได้ต่างกัน เรื่องนี้คล้ายกับทักษะหลายๆอย่างที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน เช่นการถ่ายรูป ช่างภาพมืออาชีพจะถ่ายภาพออกมาได้สวยกว่าช่างภาพสมัครเล่น ถึงแม้จะถ่ายรูปเดียวกัน การพูดภาษาต่างประเทศประโยคเดียวกัน เจ้าของภาษาย่อมพูดได้ชัดเจนกว่า ความชำนาญจากการฝึกเกิดจากความพยายามสังเกตและทำตามอาจารย์ผู้ฝึกสอนให้ได้ ยิ่งคุณพยายาม ฝึมือคุณก็จะยิ่งดีขึ้น เมื่อใดที่คุณหยุดพยายามและคิดว่าฝึกท่าเดิม ก็ทำเหมือนเดืม เมื่อนั้นฝีมือคุณจะหยุดอยู่กับที่ และไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้

พร้อมแล้วต้องมุ่งมั่นด้วย

สายดำในบูจินกันเริ่มจากระดับ Shodan และไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงระดับ 15 ดั้ง และในบรรดาอาจารย์ระดับ 15 ดั้งด้วยกัน ก็ยังมีฝีมือที่แตกต่างกัน อย่างที่ชื่อ Shodan ได้บอกไว้อย่างเป็นนัย การได้รับสายดำระดับหนึ่ง มิได้หมายถึงความเก่งกาจ เป็นยอดฝีมือ อย่างที่ผมเคยได้เข้าในเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่สายดำระดับหนึ่งเป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะขัดเกลาตัวเองให้ดียิ่งๆขึ้นไป ความพร้อมอันนี้เมื่อประกอบกับความมุ่งมั่นในการฝึกฝน ก็จะทำให้ผู้ฝึกมีฝีมือก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงยิ่งขึ้นไปได้อีก

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับ หก
โรงฝึกบูจินกัน โอนิ (หลักสี่) โดโจ
บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ