การเลื่อนระดับในบูจินกัน: มีฝืมือ หรือน่าจะมีฝีมือ

หลายคนที่ทำงานอยู่คงทราบว่า ช่วงนี้ของปีเป็นช่วงเวลาของการขึ้นเงินเดือนและปรับเลื่อนตำแหน่ง ลูกน้องหลายท่านก็คงต้องลุ้นกันตัวโก่งว่าจะได้ปรับขึ้นเงินเดือนแค่ไหน ส่วนเจ้านายหลายท่านก็คงวุ่นวายใจไม่แพ้กันในการขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้กับลูกน้อง 

มันทำให้ผมย้อนคิดไปถึงในช่วงนี้ของปีที่แล้ว ซึ่งผมเองก็ลำบากใจในการจัดสรรตำแหน่งให้ลูกน้อง แต่แล้วในที่สุดผมก็ได้เลื่อนตำแหน่งให้ลูกน้องคนหนึ่งที่ไม่ได้มีศักยภาพโดดเด่นอะไรมาก และไม่ได้กระตือรือล้นในการทำงานสักเท่าไหร่ หลายคนคงสงสัยว่าทำไมผมจึงเลื่อนตำแหน่งให้ลูกน้องคนนั้น แม้แต่หัวหน้าผมเองก็ยังไม่ค่อยเห็นด้วยกับการตัดสินใจของผม

จริงอยู่ที่ลูกน้องคนนั้นไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นเท่าไหร่ และก็ไม่ได้ขยันทำงานมาก แต่การเลื่อนตำแหน่งในครั้งนั้นกลับทำให้เขากระตือรือล้นขึ้นมาก จากคนที่ทำงานไม่ค่อยได้ทำงาน กลับเร่ิมคิด เร่ิมวางแผน และริเร่ิมงานเอง จากคนที่เคยปฏิเสธงานตลอด กลับเริ่มเห็นคุณค่า เริ่มรู้ว่างานใดเป็นงานที่สำคัญต่อองค์กร และเริ่มผลักดันงานด้วยตัวเอง มองย้อนกลับไป ผมคิดว่าการตัดสินใจของผมไม่ได้เลยร้ายเสียทีเดียว 

การเลื่อนสายในบูจินกันเองก็จะมีแนวคิดคล้ายๆกัน อาจารย์ของผมเคยเล่าให้ฟังว่าผู้ที่ได้รับการเลื่อนระดับมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกคือผู้ที่มีฝีมือที่คู่ควรกับสาย อีกประเภทหนึ่งคือผู้ที่ฝีมือยังไม่เข้าขั้นนัก แต่น่าจะสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น หลังจากได้รับการเลื่อนระดับ 

สำหรับตัวผมเอง ผมคิดว่าการเลื่อนระดับให้ผู้ฝึกประเภทแรกนั้นง่ายกว่าการเลื่อนระดับให้ผู้ฝึกประเภทหลัง แน่นอนว่าผู้ที่มีฝีมือ ทักษะที่ดี ย่อมคู่ควรกับสาย จึงไม่ต้องใช้วิจารณญาณมากนัก ในทางกลับกับการเลื่อนระดับให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพแต่ฝีมือยังไม่เข้าขั้น ผู้สอนจะต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้นั้นสามารถพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้อีก ถึงแม้จะเห็นว่าผู้ฝึกยังไม่คู่ควรกับการเลื่อนขึ้น แต่ก็คาดเดาว่าการที่อยู่ในระดับสูงขึ้นไปปจะเป็นแรงกดดันทำให้ผู้ฝึกพยายามมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว 

ผู้ที่เข้ามาฝึกในบูจินกันควรจะต้องเรียนรู้วัฒนธรรม ธรรมเนียม และหล่อหลอมทัศนคติไปพร้อมกับการพัฒนาฝีมือของตัวเอง ผู้สอนมักจะดูสิ่งเหล่านี้ประกอบกับการพัฒนาการของฝีมือด้วย อ.มะซะอะกิ อาจารย์ใหญ่ของ บูจินกัน ได้เคยบอกว่าให้เลือกสอนผู้ฝึกที่มาจิตใจดี หรือทัศคติที่ดี เพราะคนที่มีทัศนคติที่เข้าใจบูจินกันจะใช้วิชาในทางที่ถูกและสามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้อย่างยั่งยืน

โดยส่วนตัวผมคิดว่าการเลื่อนระดับให้ผู้ฝึกถือเป็นความเชื่อใจที่ผมให้กับผู้ฝึกว่าเขาจะสามารถพัฒนาฝีมือได้เหมาะสมกับสายที่ได้รับไป สำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนระดับไป ก็ขอให้พิจารณาลองดูตัวเองเสมอว่าฝีมือของตนนั้นสมกับระดับหรือยัง และพยายามพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ สำหรับผู้ฝึกที่มาใหม่ หรือแม้ผู้ที่ฝึกมาได้สักระยะหนึ่งแล้วก็อย่าเพิ่งท้อใจ พยายามนี่จุดที่ตัวเองยืนอยู่ ค่อยๆพัฒนาฝีมือตัวเองขึ้นมา ค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมของบูจินกัน ค่อยๆหล่อมทัศนคติขึ้นมา เพื่อจะได้ก้าวต่อไปในเส้นทางนักรบได้อย่างมั่นคง

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับหก
บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ