องค์ประกอบสำคัญในการฝึกบูจินกัน: อาจารย์ อุเกะ และผู้แปล

ผมเพิ่งกลับจากการฝึกในโรงฝึกใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่นมา และได้ข้อคิดบางอย่างที่จะมาเล่าให้ฟังในวันนี้ ก่อนอื่นต้องบอกว่าบูจินกันเป็นวิชาที่มีชาวต่างชาติฝึกกันเยอะมาก คราวนี้ในโรงฝึก ผู้ฝึกส่วนมากมาจากประเทศอาเจนตินา เท่าที่ทราบยังมีบางส่วนมาจากสเปน อังกฤษ และแคนนาดา  จะมีผู้ฝึกชาวญี่ปุ่นค่อนข้างน้อย และอาจารย์มะซะอะกิ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงฝึกบูจินกัน ก็ได้ทำการสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ต้องมีการแปลคำพูดของอาจารย์เป็นภาษาอังกฤษ และบางครั้งเป็นภาษาสเปน (เนื่องจากอาเจนตินาก็ใช้ภาษาเสปน) 

ผมคิดว่าการถ่ายทอดวิชาของอาจารย์ มีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามอย่างด้วยกัน คือ อาจารย์ อุเกะ (คู่ต่อสู้ หรือคู่ฝึกของอาจารย์) และผู้แปล

อาจารย์ในโรงฝึกบูจินกัน

แน่นอนว่าอาจารย์เป็นหัวใจของการฝึกสอน ปัจจุบันอาจารย์มะซะอะกิมีอายุถึง 88 ปีแล้ว ดังนั้นท่านอาจไม่สามรถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว แต่ท่านสามารถหยุดคู่ฝึกได้โดยไม่ต้องเคลื่อนไหวมาก ท่านได้บอกในโรงฝึกว่าท่านกำลังสอนสิ่งที่สายดำระดับ 15 ควรจะรู้  ผมจึงรู้สึกว่ามันเป็นส่ิงที่ยากต่อการเข้าใจ อย่างไรก็ตามการที่ได้เห็นอาจารย์เคลื่อนไหว และได้เห็นอาการของอุเกะของท่าน ทำให้ดูทำให้พอรู้ว่า “ความรู้สึก” ของผู้ที่เป็นอุเกะควรจะเป็นเช่นไร ผมคิดว่าที่การที่อาจารย์เองไม่ได้ลดระดับของตังเองมาสอนในสิ่งที่ผู้ฝึกระดับตำ่ลงมา เพราะท่านมีเวลาน้อย และท่านต้องการถ่ายทอดสิ่งที่ท่านรู้ทั้งหมดให้แก่ผู้ฝึกรุ่นต่อไปให้มากที่สุด การเข้าฝึกกับท่านอาจทำให้เราได้รับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึก แต่การขัดเกลาฝึมือจะเกิดขึ้นจากการเข้าฝึกอย่างเป็นประจำที่โรงฝึกในประเทศไทย

อุเกะ: คู่ฝึกของอาจารย์ 

ใน post ก่อนหน้านี้ผมได้เคยกล่าวถึงความสำคัญของอุเกะของอาจารย์ ว่ามีความสำคัญต่อการฝึกอย่างยิ่ง อุเกะของอาจารย์ไม่ใช่ต้องเอาตัวรอดอย่างเดียว แต่ยังต้องสามารถรับความรู้สึกได้  อุเกะเป็นเหมือน “ร่าง” หรือ vessel เพื่อให้อาจารย์ถ่ายทอดความรู้สึกออกไป การสังเกตอาการของอุเกะเป็นส่วนสำคัญต่อความเข้าใจของการเคลื่อนไหวของอาจารย์ หากอุเกะไม่สามารถรับความรู้สึกได้ หากส่ิงที่อาจารย์ต้องการถ่ายทอดก็จะเข้าไปไม่ถึงอุเกะ ผู้ฝึกก็ไม่เห็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการจะถ่ายทอดออกมา

สิ่งที่ผมสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คืออาจารย์จะมีอุเกะเพียงไม่กี่คนเท่านั้น เพราะมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถรับความรู้สึกจากอาจารย์ได้ นอกจากนี้จำนวนอุเกะของอาจารย์ยังมีจำนวนลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อสิบปีที่แล้วเราจะเห็นอาจารย์หลายท่านเป็น อุเกะ ให้กับ อาจารย์มะซะอะกิ แต่ตอนนี้อาจารย์ที่เคยเป็น อุเกะ ก็เร่ิมมีอายุมากขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ จึงไม่ได้เป็น อุเกะ ให้กับอาจารย์มะซะอะกิ แล้ว

ผู้แปลคำสอนของอาจารย์ 

อาจารย์ มะซะอะกิ จะสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่คนเรียนส่วนนมากจะเป็นชาวต่างชาติ ดังนั้นจึงจะต้องมีผู้รับหน้าที่แปลสิ่งที่อาจารย์สอนออกมา แต่ผู้แปลจำเป็นจะต้องมีความเข้าในวิชาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะได้แปลคำสอนของอาจารย์ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน อย่างเช่น การใช้คำว่า Transmission ซึ่งแปลว่าการถ่ายทอด จะต้องไม่สับสนกับคำว่า Teach ซึ่งแปลว่าการสอน  นอกจากการแปลญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษแล้ว บางครั้งอาจารย์จะให้ผู้ที่เป็น อุเกะ อธิบายว่าเขารู้สึกอย่างไรในช่วงที่รับการโจมตีของอาจารย์ บางครั้งผู้ที่เป็นอุเกะไม่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ ก็อาจใช้ภาษาตนเองในการอธิบายความรู้สึกของตน และจำเป็นจะต้องมีคนแปลความรู้สึกนั้นให้อาจารย์ฟังทีหนึ่ง 

การฝึกที่ญี่ปุ่นจะแตกต่างจากเมืองไทยมาก ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก ดังนั้นผู้เข้าฝึกจำเป็นจะต้องตั้งใจให้มาก บางครั้งอาจารย์จะทำให้ดูเพียงครั้งเดียว เราจำเป็นจะต้องตั้งใจดูการเคลื่อนไหวของอาจารย์ ตั้งใจสังเกตอาการของอุเกะของอาจารย์ และตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้แปลพูด เพื่อที่จะเข้าให้ถึงสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดออกมาให้มากที่สุด 

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล

สายดำระดับเจ็ด

บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ