Kusunoki Masashige ขุนพลที่ได้ชือว่ามีความจงรักภักดีที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ท้าวความกับญี่ปุ่นในยุคโบราณ 

ก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้สงครามอย่างยาวนานเป็นเวลาหลายร้อยปี ถึงแม้ระบบการปกครองจะมีจักรพรรดิเป็นผู้นำสูงสุด แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ละหัวเมืองก็จะมีผู้ครองแคว้นที่เรียกว่า “ไดเมียว” ปกครองหัวเมืองในลักษณะประเทศราชขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ส่วน “โชกุน” จะเป็นตำแหน่งที่มอบให้แก่ไดเมียวที่มีอำนาจมากที่สุด ถึงแม้ระบบการปกครองจะชัดเจนว่าจักรพรรดิ์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ไดเมียว ไม่ได้มีความจงรักภักดิ์ดีต่อจักรพรรดิ์เลย และตำแหน่งโชกุนก็มักจะถูกมอบให้แก่ไดเมียวที่ทรงอำนาจในขณะนั้น แม้ว่าจักรพรรดิ์จะไม่เต็มใจก็ตาม

ยุคคะมะคุระ (Kamakura)

ยุคคะมะคุระ (ค.ศ. 1185-1333) เป็นอีกยุคหนึ่งที่โชกุนเรืองอำนาจ ยุคนี้เริ่มต้นจากเมื่อ มินะโมะโตะ โยะริโตะโมะ ได้รวบอำนาจและตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น (ที่เรียกว่า bufuku) ขึ้นที่เมือง คะมะคุระ (ห่างจากโตเกียวไปทางใต้ประมาณชั่วโมงครึ่ง) ช่วงต้นศตวรรศที่ 13 ตระกูล มินะโมะโตะ ก็ได้สูญเสียอำนาจให้แก่ตระกูล โฮะโจะ ซึ่งเป็นตระกูลสุดท้ายในยุคคะมะคุระ

จนกระทั่งจักรพรรดิ โกะไดโกะ (Go Daigo) ตัดสินใจจะทวงอำนาจคืนกลับจากตระกูล โฮะโจะ แรงสนับสนุนจากกองกำลังผู้ภักดีต่อจักรพรรดิ์ นำโดย คุสุโนะคิ มะสะชิเกะ (Kusunoki Masashige) ซึ่งได้นำทัพเข้าบุกเมือง คะมะคุระ และได้รับกำลังหนุนจาก อะชิคะกะ ทะกะอุจิ (Ashikaga Takauji) และ นิตตะ โยชิสะดะ (Nitta Yoshisada) และสามารถสามารถพิชิตเมือง คะมะคุระ ได้ ในปี 1333 ทำให้ จักรพรรดิ โกะไดโกะ ได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง (ในยุค Kemmu Restoration)

แต่หลังจากการครองอำนาจเพียง 3 ปี จักรพรรดิ์ โกะไดโกะ ก็ถูกหักหลังโดย ทะกะอุจิ ซึ่งได้นำทัพเข้าบุก เกียวโต (ซึ่งเป็นเมืองหลวงขณะนั้น)  ในปี 1336 ครั้งนั้น มะสะชิเกะ และ โยชิสะดะ ได้ช่วยกันรักษาเมืองเกียวโตเอาไว้ได้ และ ทะกะอุจิ ได้หนีไปสะสมกำลังเพิ่มเติมที่คิวชู

ในปีเดียวกัน ทะกะอุจิ ได้นำทัพจากคิวชูกลับมาบุกเกียวโตอีกครั้ง และครั้งนี้เขาได้มาด้วยกองกำลังที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมทั้งทางบก และทางทะเล มะสะชิเกะ เห็นว่ากองกำลังของตนเสียเปรียบอย่างมาก จึงได้นำเสนอยุทธวิธีต่อจักรพรรดิ โกะไดโกะ สองวิธี หนึ่งคือเจรจาขอเป็นพันธมิตรกับ ทะกะอุจิ อีกหนึ่งคือแกล้งเสียเมือง หลบไปอยู่หุบเขา ไฮเอ (Hiei) เมื่อ ทะกะอุจิ วางใจแล้วค่อยเข้าตีจากชัยภูมิที่ได้เปรียบกว่า 

จักรพรรดิ โกะไดโกะ ปฎิเสธทั้งสองทางเลือกและเลือกที่จะตั้งมั่นอยู่ในเมืองเกียวโต พระองค์ได้สั่งให้ มะสะชิเกะ เข้าสู้กับ ทะกะอุจิ และรักษาเมืองเอาไว้ให้ได้ ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าแพ้ มะสะชิเกะ ก็ได้น้อมรับคำสั่ง ได้พ่ายแพ้และเสียชีวิตในสงครามแห่ง มินะโตะกะวะ (Battle of Minatogawa)

ความจงรักภักดีของ มะสะชิเกะ ในครั้งน้ัน ทำให้เขาถูกจดจำในฐานะซามูไรที่เปี่ยมไปด้วยความจงรักภักดี ในยุคสงครามเต็มไปด้วยการหักหลัง ไม่มีใครไว้ใจใครได้จริง มะสะชิเกะ ได้รับใช้จักรพรรดิ์ด้วยจิตใจที่ไม่หวั่นไหว ถึงแม้จะเห็นว่าคำสั่งของจักรพรรดิ์ จะนำไปสู่ความตาย แต่เขาก็มิได้บิดพริ้วและทำตามรับสั่งจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

อนุสาวรีย์ของ Kusunoki Masashige

คนที่ไปเที่ยวเมืองโตเกียวคงจะไม่พลาดที่จะไปเยี่ยมชม Imperial Palace ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานี Tokyo Station  หากคุณได้เดินไปที่สวนฝั่งตะวันออกของ Imperial Palace คุณจะพบรูปปั้นของคุสุโนะคิ มะสะชิเกะ (Kusunoki Masashige) ซามูไรที่ได้ชื่อว่ามีความภักดีเป็นที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น อนุสาวรีย์ของท่านนับเป็น หนึ่งในสาม อนุสาวรีย์ที่สำคัญที่สุดในโตเกียว (อีกสองแห่งคือ อนุสาวรีย์ของ Saigo Takamori ซามูไร ผู้ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเมจิ ตั้งอยู่ ณ สวน Ueno Park และ Omura Masujiro บิดาแห่งกองทัพจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น ซึ่งต้ังอยู่บริเวณศาลเจ้า ยะสุคุนิ)

ที่มา:

[1] เอกสารแจกจ่ายจาก Imperial Palace

[2] https://en.wikipedia.org/wiki/Kusunoki_Masashige

[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Kamakura_period

[4] https://en.wikipedia.org/wiki/Ashikaga_Takauji

[5] https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Minatogawa

ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล

สายดำระดับเจ็ด 

บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ