อยากมีท่าไม้ตายกันมั้ย
ในวรรณกรรม “ท่าไม้ตาย” อาจหมายถึงกระบวนท่าอันยอดเยี่ยมมากซึ่งสามารถสยบคู่ต่อสู้ได้อย่างราบคาบ ฟังแล้วดูดี น่าจะฝึกให้มีท่าไม้ตายได้สักท่าสองท่า
บูจินกันไม่ได้ให้ความสำคัญกับท่าไม้ตาย
ฟังแล้วอาจดูน่าประหลาดใจ แต่ในบูจินกันเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับ “ท่าไม้ตาย” อ.มะซะอะกิ ฮัทซึมิ ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ของบูจินกัน ได้กล่าวถึง “ท่าไม้ตาย” หรือท่าที่เราได้ฝึกจนชำนาญและมักจะใช้มันอยู่เสมอ (ในหนังสือ Togakure Ryu Ninpo Taijutsu หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ten Chi Jin Ryaku no Maki) ว่า การฝึกท่าหนึ่งๆ จนชำนาญและกลายเป็นท่าโปรดนั้นอาจจะใช้ได้ในการแข่งขัน แต่การมีท่าโปรดอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีในสนามรบที่มีความเป็นความตายเป็นเดิมพัน
ศิลปะต่อสู้โบราณเน้นการ “ลบจุดอ่อน”
ศิลปะต่อสู้ไม่ได้ฝึกเพื่อสร้างให้มีท่าไม้ตายขึ้นมาเพื่อให้เป็นจุดแข็งของเรา แต่เราฝึกเพื่อ “ลบจุดอ่อน” ออกไป เพราะหากเราฝึกให้เก่งเพียงท่าเดียว จุดอ่อนที่เรามีก็จะยังคงอยู่ ในการต่อสู้จริง คู่ต่อสู้จะไม่ได้สนใจว่าเรามีท่าไม้ตายกี่ท่า แต่เขาจะมองหา จุดอ่อน หรือจุดตายของเรา เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากจุดนั้นในการเอาชนะ นอกจากนี้การมีท่าไม้ตายที่เราชื่นชอบเป็นของตัวเอง ยังจะทำให้เราอยากแสดงออกเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าท่านี้ยอดเยี่ยมแค่ไหน ผลที่ได้คือเราจะติดกับการใช้ท่านี้เป็นประจำ และอาจทำให้คู่ต่อสู้เดาทางได้ อันกลายมาเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของเรา
ขัดเกลา
ผมชอบศัพท์ที่อาจารย์ของผมใช้อุปมาอุปมัยการฝึกศิลปะต่อสู้ได้ดีคือคำว่า “ขัดเกลา” ซึ่งทำให้ผมนึกถึงงานศิลปะที่ต้องการความละเอียดอ่อน เช่น งานแกะสลักไม้ การแกะสลักมักจะเริ่มจากการทำโครงงานเสียก่อน แล้วช่างฝีมือจะต้องค่อยๆ ใช้กระดาษทรายขัด เพื่อลบเหลี่ยม และกำจัดเสี้ยนออก การขัดเกลาจะต้องทำทั้งชิ้นงาน หลากเลือกขัดเฉพาะจุด ชิ้นงานส่วนอื่นๆ ก็จะยังคงเหลือเหลี่ยมเหลือเสี้ยนอยู่ การขัดจะต้องค่อยเป็นค่อยไป การขัดเร็วไปอาจทำให้เนื้อไม้สึกจนเสียรูปไป และการขัดจะต้องใช้ความอดทน ค่อยๆ ไล่หามุมที่ยังดูไม่สมบูรณ์
เรียบง่ายแต่ไม่ง่าย
หลายครั้งที่เราอาจมองว่าศิลปะต่อสู้เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา มีท่ามาตรฐานอยู่ ฝึกให้ครบทุกท่าก็จะสำเร็จวิชา ความคิดนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาในคำถามของผู้ที่สนใจเริ่มฝึกเช่น คอร์สหนึ่งๆ ใช้เวลากี่เดือน หรือฝึกนานเท่าไรจึงจะได้สายดำ หากจะเปรียบกับงานไม้ การฝึกตามท่าก็เป็นเพียงแค่การขึ้นรูปโครงงานเท่านั้น จริงอยู่ที่การขึ้นโครงเป็นเรื่องเรียบง่าย ในการฝึกก็มีท่ามาตรฐานเพียงไม่กี่ท่า อย่างไรก็ตามขัดเกลาเพื่อกำจัดจุดอ่อนไปไม่ใช่เรื่องง่าย การหาจุดอ่อนของตัวเองนับเป็นเรื่องที่ยาก แต่การจะแก้จุดอ่อนที่เกิดจากความเคยชินนั้นกลับยากกว่า ดังนั้นการขัดเกลาฝึมือต้องใช้เวลาและความอดทน การฝึกจะช่วยให้เราพบจุดอ่อนและจะค่อยๆลบจุดอ่อนของเราออกไปทีละจุด ยิ่งฝึกมากจุดอ่อนก็จะยิ่งหายไป เหมือนงานไม้ที่มีความประณีตมากขึ้น
ขัดเกลาด้วยการฝึกพื้นฐาน
บูจินกันคือสิ่งที่เรียกว่า Kihon Happo (基本八法型) หรือ พื้นฐาน 8 ท่า ท่าเหล่านี้จะเริ่มจากการที่คู่ต่อสู้จู่โจมเข้ามาไม่ว่าจะเป็นด้วยการต่อย การถีบ หรือการจับ แต่กระบวนท่าทั้ง 8 นี้มิได้แข็งจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ พื้นฐานทั้ง 8 นี้ มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ร่างกายของผู้ฝึก และเพื่อใช้เป็นกรอบหรือแนวทางในการขัดเกลาฝีมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้เริ่มฝึกใหม่ควรจะจดจำท่าเหล่านี้และทำตามท่าเหล่านี้ไปก่อน แต่ต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ของการฝึก ว่าเป็นการขัดเกลาฝีมือ มิใช่การฝึกท่าไม้ตาย โดยการทำท่าทั้ง 8 ให้เหมือนในตำรา แต่เป็นการลบจุดอ่อน เพื่อให้เราสามารถเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น แล้วทักษะการต่อสู้ที่ดีขึ้น จะพัฒนาตามขึ้นมาเอง
ธีรวัฒน์ อิสสริยะกุล
สายดำระดับเจ็ด
บูจินกัน บูโด ไทจุสสึ
Recent Comments