วันนี้ผมได้มีโอกาสไปฟังการบรรยายเรื่องการศึกษาแนววอลล์ดอล์ฟ ซึ่งเน้นการเรียนรู้ชีวิตมากว่าการเรียนในห้องเรียน (การเรียนแผนปัจจุบัน) วิทยากรได้กล่าวถึงแนวคิดอยู่ 3 ข้อ ซึ่งผมคิดว่ามีส่วนคล้ายกับการฝึกวิชาของบูจินกัน
1. การพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอในบูจินกัน
การเรียนในระบบวอลล์ดอล์ฟนั้นจะไม่เหมือนการเรียนในระบบสามัญ ซึ่งทุกอย่างจะอยู่ในกรอบ เป็นเรียนตามตำราไปทีละบท มีการสอบด้วยแบบทดสอบมาตรฐาน หากสอบผ่านก็จะเลื่อนชั้นขึ้นไป แต่การเรียนในระบบวอลล์ดอล์ฟนั้น ไม่เน้นการสอบแต่เน้นการให้เด็กเรียนรู้ให้เหมาะกับวัยตัวเอง เพื่อให้เด็กก้าวหน้าไปด้วยรากฐานที่แข็งแรง เด็กแต่ละคนอาจมีพัฒนาการต่างกัน บางคนอาจจะอยู่ชั้น 1 เป็นเวลานาน จึงจะผ่านไปถึงชั้น 2 แต่อาจจะข้ามไปชั้น 3 อย่างรวดเร็ว และอาจจะอยู่ชั้น 3 สักพักก่อนจะข้ามไปชั้น 4 เด็กอาจติดอยู่ชั้น 4 เป็นเวลานานก่อนข้ามไปชั้น 5 การเรียนในลักษณะนี้จะต่างกับสายสามัญ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องใช้เวลา 1 ปี เพื่อข้ามชั้น โดยไม่สนใจว่าเด็กจะพร้อมหรือไม่ และไม่คำนึงถึงเด็กที่พร้อมก่อนคนอื่น
ในการฝึกบูจินกันก็จะมีลักษณะคล้ายกัน คึอผู้ฝึกแต่ละคนจะมีการพัฒนาการต่างกัน บางคนอาจติดอยู่ขั้นหนึ่งๆนานกว่าอีกคนหนึ่ง แต่สามารถก้าวข้ามอีกขั้นหนึ่งได้เร็วกว่าคนอื่น แต่ละคนมีสรีระต่างกัน มีความถนัดในแต่ละท่าต่างกัน ทำให้ใช้เวลาในการทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องต่างกัน ดังนั้นในบูจินกันจึงไม่มีการสอบสาย แต่อาจารย์จะใช้วิธีดูความเหมาะสม (ทั้งทักษะและการวางตัว) ในการเลื่อนสายให้แต่ละคน ผู้ที่เข้าฝึกบูจินกันไม่จำเป็นต้องท้อใจว่าตัวเองช้ากว่าคนอื่น และไม่ควรจะย่ามใจว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น สิ่งที่ควรทำในการฝึกคือ ฝึกให้ดีที่สุดและพยายามรับสิ่งใหม่ที่อาจารย์จะถ่ายทอด โดยไม่ต้องคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนรอบข้างหรือไม่
2. สายลม สายน้ำ กับการถ่ายทอดวิชาของบูจินกัน
อีกเรื่องหนึ่งที่วิทยากรได้กล่าวไว้คือ เด็กควรรับเอาสิ่งที่อาจารย์สอนให้เหมือนกับการรับรู้ว่ามีสายลมหรือสายน้ำพัดผ่าน เด็กไม่สามารถจะหยิบจับลมหรือน้ำที่พัดผ่านเข้ามาได้ทั้งหมด แต่ขอให้เด็กรับเท่าที่รับได้ บอกคนสามารถสัมผัสได้ว่านี่เป็นลมร้อน ลมเย็น ลมชื้น หรือลมแห้ง แต่ละคนสามารถใช้มือกวักน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำได้ไม่เท่ากัน การเรียนแนวนี้จะเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งเดียวกันได้ซ้ำๆ เมื่อเด็กได้สัมผัสกับมันบ่อยๆก็จะมีทักษะในการรับรู้คุณสมบัติของลมมากขึ้นเอง
สำหรับบูจินกันแล้ว นักเรียนทุกคนไม่สามารถรับทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์ถ่ายทอดได้ คุณสามารถทดสอบคำกล่าวนี้โดยการลองเข้าฝึก และลองดูว่าตัวเองสามารถทำตามอาจารย์ได้มากน้อยเพียงใด อาจารย์ของผมเคยเล่าให้ฟังว่าผู้ฝึกทุกคนเหมือนภาชนะ ซึ่งเอาไว้รองรับสิ่งต่างๆที่อาจารย์สอน หากจะเปรียบกับสิ่งที่วิทยากรได้กล่าวไว้ การถ่ายทอดวิชาก็จะเป็นเหมือนสายน้ำ ภาชนะที่เรามีอาจจะไม่สามารถรับสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดทั้งหมดได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ในการฝึกครั้งถัดๆไป ให้เราเทน้ำออกจากภาชนะให้หมด เพื่อเตรียมรับสายน้ำระลอกใหม่ ที่อาจารย์จะถ่ายทอดให้กับเรา
ผู้ฝึกแต่ละคนจะสามารถรับสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดได้มากน้อยต่างกันเพราะแต่ละคนมีขนาดภาชนะที่ต่างกัน การฝึกแต่ละครั้ง การรับการถ่ายทอดแต่ละครั้ง จะทำให้ขนาดภาชนะของเราใหญ่ขึ้น และสามารถรับสิ่งที่เอาอาจมองไม่เห็นในการฝึกก่อนหน้านี้ได้ ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะรับสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดได้ไม่เต็มที่ คุณควรจะตั้งใจฝึกไว้ หากคุณคิดว่าคุณรู้แล้ว ทำได้แล้ว ก็เหมือนกับคุณคว่ำภาชนะไว้ เข้าไปฝึกเพิ่มเติมแต่ไม่ได้รับอะไรเพิ่มเติม ปล่อยให้สายน้ำไหลผ่านไปโดยไม่ใส่ใจมัน สุดท้ายทักษะที่คุณมีก็จะเท่าเดิม ไม่ทำให้ภาชนะของคุณใหญ่ขึ้น
3. บูจินกันเป็นศิลปะต่อสู้ที่ไม่มีตายตัว
ข้อคิดสุดท้ายที่ผมได้จากวิทยากรก็คือ การสอนในระบบวอลล์ดอล์ฟ เป็นเหมือนศิลปะ คือไม่มีอะไรตายตัว ไม่เหมือน 1+1 ที่ได้ผลเป็น 2 เสมอ การวาดภาพ การถ่ายภาพ หรือการเล่นดนตรี ล้วนมีหลักการที่ทำให้ได้ผลออกมาดี น่าดู น่าฟัง แต่ถึงแม้เราจะวาดแจกันอันเดียวกัน ถ่ายภาพมุมเดียวกัน หรือเล่นเพลงๆเดียวกัน ภาพหรือเพลงของคนหนึ่งจะออกมาดีกว่าอีกคนหนึ่งเสมอ อาจารย์ในระบบนี้ จะมีแกนการสอน และวัตถุประสงค์หลักๆ ที่จะทำให้ได้ผลออกมาดี อยู่แต่การสอนวิชาเดียวกันในแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสภาพของเด็ก
ในวิชาบูจินกัน จะมีสิ่งที่เรียนกว่า พื้นฐาน (Kihon) และท่าร่าง (Kata) พื้นฐานหรือท่าร่างเป็นแกนที่เราจะใช้ในการฝึกเป็นประจำ แต่การฝึกท่าพื้นฐานแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน การวางเท้า การวางมือ องศาการยืน ช่วงเวลาที่เริ่มขยับตัว จะแตกต่างไปในการฝึกท่าเดียวกันแต่ละครั้ง ถึงแม้เราจะทำพื้นฐานท่าเดียวกัน แต่ผลที่ได้จากผู้ฝึกแต่ละคนจะต่างกัน บางครั้งการวางเท้าต่างกันเพียง นิ้ว เดียว อาจทำให้ได้ผลที่ต่างกันโดยสิ้นเขิง หากคุณเข้าใจจุดนี้ คุณจะสามารถฝึกท่าๆเดียวกันได้เป็นสิบปี โดยที่ไม่รู้สึกเบื่อเลย และท่าที่คุณฝึกจะค่อยๆ ดีขึ้นตามเวลาที่คุณฝึก
แนวคิดท้ังสามแนวคิดข้างต้น เป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกบูจินกัน เมื่อคุณเห็นว่าคุณพัฒนาตัวเองช้า นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา คุณควรเข้าฝึกแต่ละครั้งด้วยภาชนะที่ว่างเปล่าและรับสิ่งที่อาจารย์ถ่ายทอดให้เต็มที่ และคุณควรเข้าใจว่าคำว่าศิลปะนั้นไม่มีอะไรตายตัว
Recent Comments